ข่าว
Informa เดินหน้าร่วมมือเปลี่ยนพลังงานสะอาดสู่สังคม

ภาวะโลกร้อน คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานทั่วโลกตื่นตัว โดยเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน ในทุกภาคส่วน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งสำคัญของโลก ทางกระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP2024) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP 2024) ตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยลดค่าความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) จากเดิม 30% เป็น 36% ภายในปี พ.ศ.2580
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) กล่าวว่า วันนี้ เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ถูกนิยามว่าเป็น “Key enable to energy transition” หรือ กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด โดยบทบาทสำคัญที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้ดำเนินการในการให้ข้อมูล ส่งเสริมความเข้าใจให้เกิดการใช้งานที่ถูกต้อง ประหยัด ปลอดภัย ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีกับหลายๆภาคส่วน รวมถึงให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในด้านมาตรฐานและนโยบายที่สำคัญจากเทคโนโลยีดังกล่าว
ทางด้านของ คุณนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างก็ต้องการที่จะเร่งเรื่องของการใช้ไฟฟ้าแบบรีไซเคิลให้ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2035 ซึ่งเร็วกว่าแผนการดำเนินงานของภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนยังต้องการที่จะเร่งดำเนินการเรื่อง Go Green ให้เร็วขึ้นเพราะเป็นหนึ่งในแผนงานของภาคเอกชนและเร่งขยับการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หากไทยยังเดินหน้าช้า การออกกฏหมายรับรองหรือการเอื้อประโยชน์ช้า จะยิ่งทำให้เสียโอกาสอย่างทางผู้ผลิต Pandora ยังขยายการผลิตไปยังเวียดนามเพราะทางรัฐมีการสนับสนุนในการทำโรงงานสีเขียว ซึ่งไทยไม่ควรรอช้ากว่านี้
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวเสริมว่า กระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตรายใหญ่ถือว่าช้ากว่าเป้าที่กำหนดไว้ สะท้อนให้เห็นว่าดีมานด์และซัพพลายไม่สอดคล้องกัน จึงต้องการผลักดันให้รัฐและเอกชนร่วมกันเดินหน้านโยบายต่างๆ ให้สะดวกในกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์กับทางบริษัทเอกชนให้มากขึ้นด้วย