ข่าว
BTS เผย “ผู้โดยสาร” ดึง “เบรคฉุกเฉิน” รอเพื่อนขึ้นรถไฟฟ้า ทำรถไฟฟ้าล่าช้า!

ภายหลังจากช่วงเวลา 06.48 น. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ ของรถไฟฟ้า BTS มีการทวิตข้อความ ระบุว่า การเดินรถให้บริการตามปกติ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมออนไลน์พูดถึงเพิ่มเติมคือ “วันก่อนผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER) เพียงเพราะต้องการให้ขบวนรถหยุดรอเพื่อน เจ้าหน้าที่ต้องรีเซ็ตขบวนรถใหม่ และทำผู้โดยสารคนอื่นๆล่าช้า”
06.45 น. ขบวนรถให้บริการทุกสถานี ทั้งในสายสีลม และสายสุขุมวิทครับ
🚫วันก่อนผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER) เพียงเพราะต้องการให้ขบวนรถหยุดรอเพื่อน เจ้าหน้าที่ต้องรีเซ็ตขบวนรถใหม่ และทำผู้โดยสารคนอื่นๆล่าช้า
อยู่ในขบวนพบเหตุเป็นลม เจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือ 🔔 กดปุ่มกระดิ่ง— BTS SkyTrain (@BTS_SkyTrain) 1 กรกฎาคม 2562
ทีมข่าว Brickinfo สอบถามไปยัง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้า BTS นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ เปิดเผยว่า สำหรับเหตุผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER – Passenger Emergency Release หรือ พีอีอาร์) เกิดขึ้นในช่วงประมาณเที่ยงวัน ของ วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยทางบีทีเอสจะมีการบันทึกประวัติของผู้ที่ดึง คันโยกฉุกเฉิน โดยไม่มีเหตุอันควร เพื่อใช้ในการตรวจสอบว่ามีการทำซ้ำอีกหรือไม่
เมื่อมีการดึง “คันโยกฉุกเฉิน” โดยไม่มีเหตุจำเป็นทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการ รีเซ็ตขบวนรถใหม่ เพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถเคลื่อนตัวไปแต่ทั้งระบบ ส่วนผู้โดยสารที่ทำการดึงคันโยกดังกล่าว มีสิทธิ์ถูกปรับ เนื่องจากดึงคันโยกฉุกเฉินโดยไม่มีเหตุอันควร
ทั้งนี้ ระบบการเดินรถของบีทีเอส ยึดหลัก fail – safe หากตรวจพบความผิดปกติใดก็ตามในการเดินรถ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ หรือราง คอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถ จะสั่งให้ขบวนรถหยุดไว้ก่อนเสมอ นี่คือที่มาของเสียงประกาศจัดการจราจรในขบวนรถ
ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งที่ดึง คันโยกฉุกเฉิน จะกระทบต่อการเดินรถ เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ จะต้องใช้เวลารีเซ็ตขบวนรถทุกครั้ง ขบวนที่ตามหลังมาก็ต้องจอดคอยต่อๆกันไป เพื่อรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยเสมอ แต่เกิดความล่าช้าสะสมได้ กระทบผู้โดยสารท่านอื่นๆ จึงมีข้อกำหนดให้มีโทษปรับหากใช้โดยไม่จำเป็น
สำหรับ คันโยกฉุกเฉิน PER มีไว้ใช้เปิดประตูขบวนรถ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในขณะที่รถจอดสนิท ติดตั้งบริเวณด้านข้างประตูทุกประตู และทุกขบวนรถ พร้อมติดสติ้กเกอร์ที่มีคำแนะนำการใช้งานคาดไว้ทุกชิ้น
ตัวอย่าง การใช้ PER เช่น ขบวนรถไฟฟ้าจอดสนิทที่สถานี ท่านอยู่ในขบวนรถ แต่พบผู้โดยสารท่านอื่นขาตกในช่องว่างระหว่างชานชาลา ก็สามารถดึง PER เพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้
กรณีที่พบได้บ่อยกว่ากรณีอื่น คือ มีผู้เป็นลมในขบวนรถ ผู้โดยสารจึงดึง PER ซึ่งทำให้ขบวนรถต้องหยุดนานกว่าปกติที่สถานีถัดไปโดยไม่จำเป็น หากพบผู้เป็นลม หรือป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือขณะที่อยู่ในขบวนรถ โปรดกดปุ่มกระดิ่ง แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที เจ้าหน้าที่จะประสานสถานีถัดไปให้เตรียมการช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดนาน เพื่อรีเซ็ตขบวนรถ สำหรับปุ่มกระดิ่ง อยู่บริเวณเดียวกับ PER ในทุกตู้โดยสาร