ข่าว
อ่าน! บทเทศน์ของ “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส” ใน “พิธีบูชาขอบพระคุณ” ที่ สนามศุภชลาศัย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ร่วมประกอบพิธีมิสซา ที่สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 21 พ.ย. โดยมีประชาชนภายในสนามร่วมพิธีด้วยประมาณ 38,000 คน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทย ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย.ถือเป็นการเสด็จเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 35 ปี ของประมุขแห่งโรมันคาทอลิก
โดยพิธีบูชาขอบพระคุณดำเนินไปด้วยภาษาอังกฤษ จนถึงภาควจนพิธีกรรม ประกอบด้วยบทอ่านจากพระคัมภีร์ และบทพระวรสาร จบแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสประทานเทศนาเป็นภาษาสเปน โดยมีการแปลเป็นภาษาไทย ตามด้วยบทภาวนาเพื่อมวลชน ซึ่งมีผู้แทนอ่านบทภาวนาภาษาไทย และภาษาปกาเกอะญอ เมื่อถึงภาคบูชาขอบพระคุณ สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทับยืนที่เบื้องหน้าพระแท่นเพื่อทรงรับเครื่องบูชาที่ผู้แทนคริสตชนไทยนำไปถวาย จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงถวายสักการะบูชาแด่พระเจ้า พร้อมกับบรรดาบิชอป และบาทหลวงเป็นภาษาละติน หลังจากนั้น ประทานศีลมหาสนิทแก่ผู้แทนคริสตชนคาทอลิก ส่วนคริสตังที่อยู่ในบริเวณอัฒจันทร์ และที่สนามเทพหัสดิน มีบาทหลวงจำนวนกว่า 300 ท่านเชิญศีลมหาสนิทไปส่งให้โดยรอบ
- ชมภาพ : สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ร่วมพิธีมิสซา ณ สนามศุภชลาศัย
- อ่าน : ไปรษณีย์ไทย จัดสร้างแสตมป์ชุดพิเศษ “โป๊ปฟรังซิสเยือนไทย”
- ชมภาพ : การแสดง “สี่ภาคพิสาสนาฏศิลป์ฯ” ถวาย “โป๊ปฟรังซิส” หลังเสร็จพิธีมิสซา

บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พิธีบูชาขอบพระคุณ ณ สนามศุภชลาศัย
“ใครเป็นมารดา และใครเป็นพี่น้องของเรา” (มธ 12:48) โดยใช้พระวาจานี้ พระเยซูเจ้าทรงท้าทายให้มวลชนที่ได้ฟังให้ตั้งคำถามในเรื่องที่ดูเหมือนกับว่าทุกอย่างชัดเจน และแน่นอนอยู่แล้ว: ใครเป็นสมาชิกครอบครัวของเรา คือบุคคลเหล่านั้นที่เป็นของเรา และที่เราเป็นของเขาใช่หรือไม่
หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงทิ้งคำถามให้ไตร่ตรองและปล่อยให้คำถามนี้ดังก้องอยู่ในใจของเขาแล้ว ก็ทรงให้คำตอบที่แปลกใหม่ นั่นคือ “ทุกคนที่ปฎิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา” ผู้สถิตในสวรรค์ ผู้นั้นแหละเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา” (มธ 12:50) โดยการกล่าวเช่นนี้ พระเยซูเจ้าไม่ทรงเพียงแต่ทำลายโครงสร้างที่ถูกกำหนดไว้ โดยทางศาสนาและกฏหมายในสมัยนั้นเท่านั้น แต่ยังทรงทำลายความปรารถนาที่เรียกร้องมากเกินไปของบรรดาผู้คนที่คิดว่าตนเองมีสิทธิหรืออำนาจเหนือพระองค์อีกด้วย พระวรสารเป็นการเชิญชวนที่ให้แบบเปล่าๆ สำหรับทุกคนที่อยากฟัง
สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือ ข้อสังเกตที่ว่าพระวรสารนั้นล้วนแต่เต็มไปด้วยคำถามซึ่งประสงค์ที่จะทำให้เรารู้สึกอึดอัด ทั้งยังเป็นการกระตุ้นและเชิญชวนให้บรรดาศิษย์เริ่มเดินตามหนทางที่จะช่วยให้พวกเขาได้ค้นพบความจริงแห่งชีวิต คำถามเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายที่เปิดหัวใจและโลกทัศน์ต่อความจริงใหม่ ซึ่งสวยงามเกินกว่าที่เขาจะจินตนาการได้ คำถามของพระอาจารย์นั้นมักจะมุ่งหมายที่จะรื้อฟื้นชีวิตของเราและของหมู่คณะด้วยความชื่นชมยินดีที่หาที่เปรียบมิได้ (cf. Exhort. ap. Evangelii Gaudium 11)

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาธรรมฑูตกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงผืนแผ่นดินแห่งนี้ พวกเขาได้ฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า พวกเขาพยายามตอบคำถามของพระองค์และมองเห็นว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ยิ่งใหญ่กว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือเป็นกลุ่มทางวัฒนธรรม กลุ่มประเทศ และกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง โดยอาศัยพละกำลังจากพระจิตเจ้า และความหวังที่เกิดจากพระวรสาร พวกเขาได้เดินทางเพื่อที่จะได้พบกับสมาชิกในครอบครัวเดียวกับที่เขายังไม่รู้จัก พวกเขาออกเดินทางเพื่อค้นหาใบหน้าของพี่น้องของเขา พวกเขาต้องเปิดใจเพื่อจะก้าวข้ามความแตกแยกและความแตกต่างในทุกรูปแบบ และค้นพบมารดาและพี่น้องชายหญิงชาวไทยทั้งหลายที่ยังคงขัดสนอาหารจากพระแท่นศักดิ์สิทธิ์แห่งวันเวลาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่เพียงแต่ที่พวกเขามีสิ่งที่ต้องการจะแบ่งปันเท่านั้น แต่ตัวเขาเองยังต้องการความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวไทย เพื่อที่จะทำให้ความเชื่อของเขาจะได้รับการหล่อเลี้ยงและความเข้าใจในพระคัมภีร์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย (cf. Conc. Vat.II, Const. dogm. Dei Verbum 8)
หากไม่มีการค้นพบดังกล่าวคริสตศาสนาจะขาดโฉมหน้าของพวกท่าน จะขาดเพลง การรำไทยและรอยยิ้มที่เป็นอัตลักษณ์ของปวงชนบนแผ่นดินนี้ พวกเขาจึงเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงพระประสงค์ของพระบิดาที่ทรงเปี่ยมด้วยความรักซึ่งยิ่งใหญ่กว่าความคิดแบบมนุษย์ กลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งหรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ศิษย์ธรรมฑูตไม่ใช่ผู้ที่มาเผยแผ่ศาสนาหรือแสวงหาผู้ที่จะกลับใจเท่านั้น แต่ยังเป็นภิกขาจารหรือการเที่ยวขอสิ่งที่ยอมรับว่า ตนเองยังขาดอยู่ คือพี่น้องชายหญิง ยังขาดมารดาที่พระเยซูเจ้าประทานให้กับมวลมนุษย์เพื่อมาร่วมฉลองพระพรแห่งการคืนดี งานเลี้ยงวิวาห์พร้อมแล้ว จงไปตามทางแยกและเมื่อพบผู้ใด จงเชิญมาร่วมงานวิวาห์เถิด (เทียบ มธ 22:4 และ 9) การถูกส่งออกไปนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความชื่นชมยินดี การขอบพระคุณและความสุขสมบูรณ์ “เมื่อเราปล่อยให้พระเจ้าทรงนำชีวิตของเรา เพื่อให้เราบรรลุถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรามากที่สุด ณ จุดนั้น เราจะพบต้นธารและแรงบันดาลใจของความพยายามที่จะประกาศพระวรสาร” (cf. Exhort. ap. Evangelii Gaudium 8)
ระยะเวลาที่ผ่านไปแล้ว 350 ปี นับตั้งแต่ได้ก่อตั้งมิสซังสยาม (ค.ศ. 1669-2019) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอ้อมกอดฉันพี่น้องที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในแผ่นดินแห่งนี้ ธรรมฑูตเพียง 2 ท่านได้หว่านเมล็ดพันธุ์ ซึ่งได้เติบโตขึ้นมาและผลิดอกออกผลเป็นการริเริ่มงานอภิบาลที่หลากหลาย และได้เอื้อประโยชน์ต่อทุกชีวิตในประเทศ ในโอกาสครบรอบการเฉลิมฉลองนี้ ไม่ใช่เป็นการฉลองด้วยความโหยหาอดีต แต่ต้องเป็นเหมือนกับเปลวไฟที่นำความหวัง เพื่อให้เราสามารถตอบสนองคำเชิญชวนของพระเจ้าด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ เหมือนกับบรรดาธรรมฑูตรุ่นแรกนั้น นี่เป็นความทรงจำที่เปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดีและระลึกถึงคุณงามความดี ซึ่งจะช่วยเราให้สามารถออกจากตัวเองเพื่อแบ่งปันชีวิตใหม่ที่มาจากพระวรสารกับสมาชิกครอบครัวของเราที่เรายังไม่รู้จัก
เราทุกคนเป็นศิษย์ธรรมฑูต เมื่อเราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครอบครัวขององค์พระผู้เป็นเจ้า และในเวลาที่เราได้แบ่งปันชีวิตอย่างแท้จริงเหมือนกับพระองค์ พระเจ้าไม่กลัวที่จะนั่งร่วมโต๊ะกับคนบาป เพื่อยืนยันว่ายังมีที่ว่างสงวนไว้สำหรับเขาที่โต๊ะงานเลี้ยงของพระบิดา และในโลกที่เป็น “บ้านอาศัย” ของเราทุกคน พระองค์ได้เคยสัมผัสบุคคลเหล่านั้นที่ถูกตีตราว่า พวกมีมลทิน และยังยินยอมให้เขาสัมผัสพระองค์ด้วย เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่า พระเจ้าทรงสถิตอยู่ใกล้เขาและเขาเป็นผู้ได้รับพระพร (cf. S. Juan Pablo II Exhort. ap. Postsin. Ecclesia in Asia 11)
พ่อคิดถึงเป็นพิเศษบรรดาเด็กชายหญิงและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี และการค้ามนุษย์ ซึ่งทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกทำลายไป พ่อคิดถึงเยาวชนที่ตกเป็นทาสของยาเสพติดและดำเนินชีวิตอย่างไร้ความหมาย โดยการหยุดที่จะใฝ่ฝันหรือการเผาทำลายความฝันของตัวเอง พ่อคิดถึงบรรดาผู้อพยพที่ไร้บ้านเรือนที่จะพักพิงและจำเป็นต้องจากครอบครัวไป พ่อคิดถึงผู้คนอีกจำนวนมากที่อาจจะรู้สึกว่าตนเองผู้ลืม เหมือนเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้ง
“พี่น้องของเราจำนวนมากมายที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพละกำลัง แสงสว่างและความบรรเทาใจจากพระเยซูคริสตเจ้า ปราศจากชุมชนแห่งความเชื่อที่ต้อนรับเขา ปราศจากขอบฟ้าแห่งความหมายของชีวิต” (cf. Exhort. ap. Evangelii Gaudium 49)
พ่อคิดถึงบรรดาชาวประมงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พ่อคิดถึงบรรดาคนขอทาน คนที่ไร้ที่พึ่งพิงและถูกเพิกเฉย พวกเขาเหล่านี้เป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา เป็นมารดา เป็นพี่น้องของเรา จงอย่าปิดกั้นชุมชนของเราจากใบหน้า บาดแผล รอยยิ้ม และชีวิตของเขา จงอย่าหยุดยั้งความรักความเมตตาของพระเจ้า ในการที่จะเจิมบาดแผล และความเจ็บปวดของเขา ศิษย์ธรรมฑูตต้องเข้าใจว่า การแพร่ธรรมไม่เกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณหรือการแสดงถึงอิทธิพล หรืออำนาจ หากแต่เป็นการเปิดประตู เพื่อการมีส่วนร่วมในอ้อมกอดที่เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตาและการเยียวยารักษาของพระบิดา ซึ่งทำให้เราเป็นครอบครัวเดียวกัน
ชุมชนคริสตชนไทยที่รัก ขอให้ท่านทั้งหลายเดินตามรอยเท้าของบรรดาธรรมฑูตรุ่นแรกๆ เพื่อที่จะได้ค้นพบและจดจำได้ด้วยความชื่นชมยินดี ซึ่งใบหน้าของบรรดามารดา และพี่น้องชายหญิงของเรา ผู้ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงประทานแก่เราและเป็นผู้ที่ยังขัดสนอาหารจากโต๊ะในงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า