ข่าว
“มหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” หวังคนไทยรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น
ถือว่าเป็นอีกงานใหญ่สำหรับแวดวงคนทำงานสื่อ เมื่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานมหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2562 ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “สื่อสารสร้างสรรค์ สังคมทันสื่อ” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณปี 2561 ของกองทุนฯ พร้อมทั้งส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังผู้ที่สนใจอยากเข้ามาเสนอโครงการหรือกิจกรรมในปีต่อๆ ไป ตลอดจนสร้างความรู้ในการใช้สื่ออย่างเท่าทันแก่นักศึกษาและประชาชนที่สนใจงานด้านสื่อ
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2562” หรือ Thai Media Fund Day 2019 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานว่า “การนำผลงานของภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มานำเสนอในงานมหกรรมผลงานสื่อฯ ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อวงการผู้ผลิตสื่อและสังคมโดยรวม โดยผู้ที่สนใจจะได้รับรู้ถึงภารกิจของกองทุนฯ และได้เรียนรู้เทคนิคเกี่ยวกับการผลิตและให้แรงบันดาลใจ กระตุ้นการต่อยอดพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน”
อ่าน : กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ทำคลิป “พระพยอม” บอกคาถารักษามะเร็งท่องทุกวันแล้วจะหาย! คุณเชื่อหรือไม่ ?
ทางด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ในงานมหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ครั้งนี้ ได้นำผลงานและกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ของผู้ได้รับทุนในปีงบประมาณ 2561 มาให้ได้ชมกัน ทั้งการแสดงบนเวที ตัวอย่างภาพยนตร์ผลิตจากวรรณกรรม เบื้องหลังงานภาพยนตร์สารคดี ผ่านการเสวนาและพูดคุยกับผู้ผลิตสื่อที่เผยให้เห็นทั้งแรงบันดาลใจและอุดมการณ์ รวมทั้งความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สื่อที่มีประโยชน์ต่อประชาชน เรื่อยไปจนถึงผลงานวิจัยที่ขับเคลื่อนสังคม ทั้งหมดนี้คือ ผลลัพธ์ของการผลิตงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่กองทุนฯ พร้อมส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
กิจกรรมและการแสดงในมหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2562 นั้น หากแบ่งแยกย่อยออกเป็นส่วนๆ เราสามารถแยกได้ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรกคือ สื่อศิลป์สร้างสรรค์ ช่วงกลาง คือ สร้างสังคมทันสื่อ และช่วงสุดท้าย คือ นวัตกรรมสื่อ 4.0 โดยประเดิมเปิดงานโหมโรงด้วยการแสดงประชันระนาดจาก โครงการระนาดเอกทางเปลี่ยน ที่ใส่ความร่วมสมัยมาในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การทาหน้าขาวและดำบนใบหน้าของทั้งสองทีมคู่แข่ง เรื่อยไปจนถึงกลเม็ดการตีระนาดที่ฉีกแนวขนบ ทว่าน่าสนุกตลอดทุกบทเพลงที่เหล่าเยาวชนเกือบ 20 ชีวิตออกมาประชันกัน ก่อนตามด้วยการแสดงน่ารักๆ ที่หาดูได้ยากจากชนเผ่าอาข่าและลาหู่ จากโครงการนิเวศสื่อพื้นบ้านสู่นวัตกรรมสื่อดิจิทัลออนไลน์ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและความเป็นสังคมเกษตรที่เผยออกมาในทุกท่วงท่าที่ทุกคนร่ายรำออกมาบนเวทีได้อย่างน่าประทับใจ
ในส่วนของการทอล์คสดบนเวทีในช่วง
“สื่อศิลป์สร้างสรรค์” ทีมงาน โครงการศิลป์ สร้าง สื่อ ส่งอาจารย์โอชนา
พูลทองดีวัฒนา หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ และ รศ. สุธี คุณาวิชยานนท์
อดีตหัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มาร่วมกันพูดคุยถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะ 15 ชิ้นจาก 15 ศิลปินต้นแบบที่ถ่ายทอดผลงานที่สะท้อนทั้งวิถีชีวิต ศาสนา ธรรมชาติ
มุมมองทางสังคม ประเด็นสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตัวตนของศิลปินออกมาผ่านงาน
แล้วใช้งานนั้นเป็นสื่อหรือตัวเชื่อม แล้วขยายความเป็นสื่อปลอดภัยในอีกช่องทางหนึ่งถึงผู้ชม
ในขณะที่ทีมงานผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี “วาฬบอกที” ที่นำทีมโดย แดง – ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้กำกับภาพมือทองที่มีผลงานจากภาพยนตร์ดังมากมาย พาทีมงานมาบอกเล่าเรื่องราวความมุ่งมั่นต่อการอนุรักษ์วาฬในประเทศไทยให้ทุกคนฟังว่า “ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความสงสัยและคำถามของผมเองว่า ในประเทศไทยมีวาฬอยู่หรือเปล่า เพราะลองค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ล เราจะเจอแต่ฉลามวาฬ นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ผมทำเว็บไซต์ thaiwhales.org ขึ้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แล้วก็ออกเรือไปสำรวจเพื่อตอบข้อกังขานี้ ซึ่งต้องขอบคุณทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยที่ให้ทุนสนับสนุน ทำให้พวกเราสามารถนำฟุตเทจที่ถ่ายเก็บไว้อย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา นำมาตัดต่อเป็นสารคดีความยาว 3 ตอนที่สื่อเรื่องราวของวาฬและการอนุรักษ์วาฬให้คนไทยได้ดูกัน อย่างตอนที่เราไปพบว่ามีถุงพลาสติกอยู่ในตัววาฬ 80 ชิ้นตั้งแต่หลอดอาหารไปจนถึงกระเพาะ มันสะท้อนเลยว่า ในทะเลของเราเป็นอย่างไร และถ้าเราไม่ช่วยกันดูแล มันจะส่งผลกระทบกับเราได้ในที่สุด การอนุรักษ์วาฬที่จริงแล้วก็คืออนุรักษ์พวกเราเอง”
ในช่วง “สร้างสังคมทันสื่อ” มีโครงการที่น่าสนใจอยู่หลายโครงการ อาทิ รายการโทรทัศน์ชุด “ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย” โดย ครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ ที่ยกทีมงานผู้สร้างหุ่นมือ เจ้าขุนทอง ปี 2019 ขึ้นไทม์แมชชีนมามอบความสุข ความสนุกสนาน ความอบอุ่น ความรู้ ความรัก ควบคู่คุณงามความดีให้แก่น้องๆ หนูๆ ในปีนี้ ครูอ้าวเล่าว่า “เราหยิบคาแรกเตอร์ฉงนกับฉงายมาจากรายการเจ้าขุนทอง ฉงนกับฉงายเป็นควายสองพี่น้องที่ช่างสงสัย ซึ่งความช่างสงสัยนี่แหละที่จะพาพวกเขาไปพบกับคำตอบที่เด็กๆ สงสัย เช่น เรื่องภาษาไทย ศิลปะ หรือสิ่งแวดล้อม ถ้าเราตั้งคำถาม เราก็จะได้รับคำตอบจากผู้รู้ และได้นำความรู้ที่ได้ไปเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง”
อ่าน : “การสื่อสารมีพลังกว่าที่คิด” แคมเปญใหม่ จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ
ส่วนช่วงสุดท้าย “นวัตกรรมสื่อ 4.0” ช่วงนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะงานมหกรรมครั้งนี้มีโครงการสื่อสายนวัตกรรมที่น่าฟังมาบอกเล่าเรื่องราว อย่างเช่น ทีมผู้ผลิตภาพยนตร์สุดล้ำอย่าง “โลหิตรำพัน” โดยผู้กำกับ ภาณุเทพ สุทธิเทพธำรง ได้มาร่วมพูดคุยในงานด้วย “ถือว่าเป็นโชคดีครับที่ผมได้ลองเข้ามาขอทุนสนับสนุนจากทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะว่าสำหรับภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายภาพเรื่อง “Blood Song: A Silent Ballad” ของศิลปินชาวอเมริกัน Eric Drooker ให้ออกมาเป็นหนังเงียบขาวดำที่ไม่มีบทสนทนา โดยใช้ภาพและดนตรีประกอบในการเล่าเรื่องตลอด 90 นาที คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากที่อื่น ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะการมีกองทุนฯ นี้ทำให้ศิลปินและนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย มีโอกาสได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ขึ้นในเมืองไทย ตอนที่ผมไปฟังแนวคิดของทางกองทุนฯ ที่บอกว่ามีเป้าหมายอยากพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสื่อ ด้านมีเดีย และด้านภาพยนตร์ ให้เติบโตขึ้น ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลายๆ ท่านที่กำลังมองหาช่องทางในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง สามารถมาพูดคุยกับทางกองทุนฯ ดูได้ครับ”
สำหรับผู้ที่สนใจจะขอรับทุนสนับสนุนการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จากทางกองทุนฯ หรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th และทางเฟซบุ๊ค กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ https://www.facebook.com/ThaiMediaFundOfficial/