Connect with us

ข่าว

มรภ.สงขลา ยกระดับผลิตภัณฑ์”ปอเทือง” ชุมชนรำแดง สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว

มรภ.สงขลา โชว์ผลงานวิจัยยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปอเทือง เพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวกลุ่มชุมชนรำแดง อ.สิงหนคร ดึงจุดเด่นพืชสำคัญของท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์

Published

on

ผู้สื่อข่าว : ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ ผู้สื่อข่าวสงขลา
เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ Brickinfo

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยนักวิจัยวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา จัดโครงการเปิดตัวผลงานวิจัย “การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปอเทืองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มชุมชนรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการประชุมชุดแผนโครงการวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกสว. การนำเสนอแผนการวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแก่ภาคีเครือข่าย โครงการวิจัยการสร้างแบรนด์ของเมืองเพื่อการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง โดย ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการวิจัยการเสริมศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วมบนฐานอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดย อาจารย์บุญรัตน์ บุญรัศมี และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ดร.นราวดี ยังกล่าวอีกว่า มรภ.สงขลา ร่วมกับ สกสว. ซึ่งสนับสนุนทุนให้แก่มหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุมชนรำแดง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย ในพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มรภ.สงขลา จึงนำทีมนักวิจัยลงไปศึกษาปอเทือง เชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสำคัญของท้องถิ่น โดยพบว่าปอเทืองมีสรรพคุณในการต้านสารอนุมูลอิสระ รวมทั้งตัวเส้นใยมีความแข็งแรงคงทน สามารถนำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนรำแดง ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่พระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และถือเป็นพันธกิจสำคัญของ มรภ.สงขลา ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ทางด้าน ดร.ฤทัยวรรณ บุญครองชีพ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา ผู้อำนวยการแผนงาน กล่าวว่า แผนการวิจัยยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปอเทืองฯ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปอเทืองเพื่อส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวตำบลรำแดง : ผลิตภัณฑ์ที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน อาหาร และ เครื่องสำอาง หัวหน้าโครงการ อาจารย์อมรรัตน์ บุญสว่าง 2. การตัดสินใจของเกษตรกรและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจในการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปอเทืองเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ และ 3. กลยุทธ์การตลาดของผลิตภัณฑ์ปอเทืองสำหรับกลุ่มชุมชนรำแดง หัวหน้าโครงการ ดร.สุวิมล บัวทอง ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง (อบต.) นำโดย นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง ส่งเสริมให้ปลูกปอเทือง โดยทั่วไปนิยมปลูกบนผืนนา ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยนำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี การประกอบอาชีพของเกษตรกร ทรัพยากรธรรมที่มีอยู่ มาผสมผสานเข้ากับระบบการจัดการทรัพยากรที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เกิดเป็นเทศกาลดอกปอเทืองบานที่บ้านรำแดง ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีบนพื้นที่กว้างกว่า 300 ไร่

ดร.ฤทัยวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ปอเทืองเป็นพืชที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในดอกไม้แห่งความจงรักภักดี หนึ่งในพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่เรื่องการปรับปรุงดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้ปลูกเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโค กระบือ ดอกสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงใช้ประกอบอาหารหลากหลายเมนู ซึ่งงานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากปอเทืองยังมีค่อนข้างน้อย ประกอบกับข้อมูลจากรายงานแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา ฉบับปรับปรุง 2562 มีจุดที่ควรพัฒนาด้านการท่องเที่ยว คือของที่ระลึกสำหรับผู้มาท่องเที่ยวในพื้นที่ จึงเล็งเห็นว่าควรมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งนี้ ต้องพัฒนากระบวนการผลิตที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เอง รวมทั้งควบคุมปริมาณ ความต้องการของตลาดที่เหมาะสม วิเคราะห์ศักยภาพในการดำเนินการของพื้นที่รำแดง เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และสามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

ขณะที่ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. สนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่ตำบลรำแดง รวมถึงทะเลสาบสงขลา ในมิติด้านการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2558 โดยพยายามเชื่อมโยงให้เห็นวิถีวัฒนธรรมของชาวลุ่มน้ำ ครอบคลุมทั้งหมด 3 จังหวัด มุ่งเน้นในเรื่องของการยกระดับรายได้ โดยมีชุมชนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับนักวิจัย ซึ่งไม่ใช่ในลักษณะของงานวิจัยที่เป็นงานวิชาการเพียงอย่างเดียว เเต่ยังดึงภาคีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วย

Continue Reading
Advertisement