ข่าว
ไบโอเทค เปิดตัว DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร
ในงาน NAC 2024 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว DAPBot (แดปบอท) แพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตร ในรูปแบบ Line Official เพื่อให้เข้าถึงการใช้งานโดยง่ายของเกษตรกร เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 หัวใจหลัก (เกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์) เป็นผู้ช่วยส่วนตัวเกษตรกรในไลน์ เพียงแค่กดเพิ่มเพื่อน โดย DAPBot จะให้บริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของพืช ทั้งปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ พร้อมรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วประเทศ รวมถึงยังให้บริการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่เผยแพร่ความรู้และแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถวินิจฉัยปัญหาในแปลงเกษตรได้อย่างตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดใช้สารเคมี เสริมสร้างความเข้มแข็งการใช้ชีวภัณฑ์ในประเทศอย่างยั่งยืน ยกระดับภาคเกษตรไทยเป็นเกษตรปลอดภัยตามนโยบาย BCG
ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ผู้พัฒนาระบบ DAPBot กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนการทำงานของทางห้องปฏิบัติการและออกเผยแพร่ในแปลงทดสอบร่วมกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทำให้ทีมวิจัยเราพบว่า ปัญหาหลักหนึ่งคือ เกษตรกรเข้าถึงเชื้อชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้จำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่ซื้อ ซื้อที่ไหน ซื้อออนไลน์ได้ไหม หรือพอซื้อแล้วกลับได้ชีวภัณฑ์ปลอมเป็นน้ำผสมสี นำไปใช้แล้วไม่ได้ผล ทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวภัณฑ์ติดลบ ไม่ใช้แล้ว กลับไปใช้สารเคมีดังเดิมดีกว่า และอีกหนึ่งปัญหาหลักคือ เกษตรกรมักมีความเข้าใจผิดค่อนข้างมากว่า สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นเกิดจากแมลง แท้จริงแล้วเกิดจากเชื้อรา จึงใช้ยาไม่ถูกโรคเสียที เพิ่มการใช้สารเคมีมากขึ้นหรือใช้ชีวภัณฑ์ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เหตุผลเหล่านี้คือที่มาหลักในการพัฒนา DAPBot ขึ้นมา
DAPBot เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมชีวภัณฑ์ในประเทศไทยไว้ โดยเฉพาะชีวพันธุ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจากผู้ประกอบการไทย คือได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร โดย DAPBot จะเป็นตัวช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการตอบคำถามความผิดปกติของพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพืชแมลง เรื่องปุ๋ย เรื่องสภาพอากาศ เรื่องน้ำ แล้วยังมีการรวบรวมแอปพลิเคชัน ที่ช่วยตอบคำถามเรื่องสภาพอากาศ เพราะการจะใช้ชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หนึ่งจะต้องมีคุณภาพ สองใช้ให้ถูกโรคถูกแมลง และสามต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนใช้งาน เช่น ถ้าใช้ก่อนฝนตกหนัก ชีวภัณฑ์จะหายไปหมดไม่ได้คุณภาพ หรือถ้าจะใช้วันนี้อากาศร้อนมากแต่พรุ่งนี้ฝนตก ให้รอใช้พรุ่งนี้ดีกว่า เป็นต้น
ด้าน น.ส.เชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยมุ่งมั่นให้ DAPBot เป็นระบบที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เกิดการอัพสกิลด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเจออาการแบบนี้ส่งมาถามในแชทได้ความรู้ที่ถูกต้อง เกษตรกรจะเริ่มจำได้ในคราวต่อไป และทางทีมมีแผนจะรวบรวมภาพที่เกษตรกรส่งมานำไปทำ AI Training เพื่อที่ว่าต่อไปเมื่อเกษตรกรสอบถามมาจะได้คำตอบเร็วขึ้น ไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญตอบ และจากที่ต้องรอสองชั่วโมงจะเหลือแค่หนึ่งวินาที เป็นต้น นอกจากนี้ DAPBot ยังนับเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพของประเทศไทยได้มาเจอกันกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ใช้งานโดยตรงคือเกษตรกร ซึ่งผู้ใช้งาน DAPBot จะไม่ได้จำกัดเพียงแค่เกษตรกรในกลุ่มเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเท่านั้น แต่เกษตรทั่วไปที่อยากหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในช่วงที่แมลงไม่ได้ระบาดมาก สามารถใช้ได้ หรือเกษตรกรตามบ้านที่ปลูกผักปลูกกุหลาบ ไม่อยากซื้อยามาฉีด อยากใช้ชีวภัณฑ์ก็ได้เช่นกัน โดย DAPBot นับเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มผู้ใช้งานและกลุ่มผู้ใหบริการชีวภัณฑ์ได้มาเจอกันนั่นเอง
ทั้งนี้ DAPBot จะมีแอดมินที่เป็นทีมวิจัยซึ่งมีความรู้เรื่องโรคและแมลงคอยดูแลตอบคำถามอยู่ และพร้อมส่งต่อคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการเกษตร โดย DAPBot ตั้งใจทำถึง ทำมาก ด้วยความพยายามตอบทุก ๆ คำถามไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้สนใจใช้งาน เพียงแค่แอดไลน์ @dapbot สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที โดยทีมวิจัยคาดหวังว่าระบบนี้จะสามารถเป็นผู้ช่วยของเกษตรกรและเป็นประโยชน์สนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนต่อไป
สำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทาง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. โทร. 02-5646700 ต่อ 3378, 3364 อีเมล [email protected] และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ Facebook Page: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย Blockdit: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย X (Twitter): Green Crop Defender @GCD_Squad และ TikTok: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค