ข่าว
เปิดตัวระบบ“SACICT Archive” ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ในอาเซียน
SACICT พร้อมยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม “Arts & Crafts Knowledge Centre” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปิดตัว “SACICT Archive” ระบบสืบค้นข้อมูลงานหัตถกรรม เพื่อเชื่อมโยงการนำเสนอองค์ความรู้หลากรูปแบบ เพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน ผลักดันไทยให้ก้าวสู่ การเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ของอาเซียนในอนาคตเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด งานศิลปหัตถกรรมไทย รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา คุณค่าแห่งหัตถศิลป์ไทย พร้อมสร้างความยั่งยืนด้วยการสนับสนุนให้งานหัตถศิลป์ไทยมีความร่วมสมัยกับชีวิตประจำวัน ภายใต้แนวคิด Today Life’s Crafts ตลอดจนได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่ระดับสากล โดยในปี 2562 นี้ SACICT ไม่เพียงเดินหน้าตามกรอบภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมของไทย แต่ยังเสริมพลังขับเคลื่อนงานหัตถศิลป์ไทย สู่การต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาไทยในมิติสร้างสรรค์ ผ่านการส่งเสริมคุณค่าองค์ความรู้ให้เป็นเครื่องมือของการสร้างความแข็งแกร่งแก่งานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างแท้จริงด้วยการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรมไทย หรือ SACICT Arts and Crafts Knowledge Centre
การเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยของ SACICT คือการให้บริการองค์ความรู้ ครบทุกรูปแบบ ผ่านการสร้างประสบการณ์ตรงจาก หอนิทรรศการ ห้องสมุด และร้านค้าของ SACICT รวมทั้งประสบการณ์บนแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านระบบสืบค้นข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมในระบบดิจิทัล ดังนั้น SACICT Arts and Crafts Knowledge Centre จึงถือเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมอันดับหนึ่งของไทยและในระดับภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงการนำเสนอองค์ความรู้หลากรูปแบบที่จะให้คนไทย ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน ครอบคลุมการให้บริการด้าน องค์ความรู้แบบครบจบในหนึ่งเดียว ได้แก่
- หอนิทรรศการ : ผ่าน 6 หอนิทรรศการ ได้แก่ หอศิลปาชีพ หอเกียรติยศ หอสุพรรณ-พัสตร์ หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ หอนวัตศิลป์ และ หอโขน ถ่ายทอดเรื่องราวนับแต่จุดเริ่มต้นของพระราช กรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพในประเทศไทย พร้อมสัมผัสชิ้นงานอันล้ำค่าที่ SACICT บรรจงคัดสรร รากจากภูมิปัญญา ผสานภารกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
- SACICT Shop : สินค้าหัตถศิลป์และนวัตศิลป์ที่พร้อมจุดประกายพลังการสร้างสรรค์ จากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกมาวางจำหน่ายในร้านของ SACICT เชื่อมโยงองค์ความรู้สู่แรงบันดาลใจในการผลิตเชิงพาณิชย์
- SACICT Library : แหล่งสืบค้นข้อมูลองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยที่รวบรวมหนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ และสื่อวีดิทัศน์ที่ SACICT เป็นผู้จัดทำ พร้อมหนังสืองานศิลปหัตถกรรมล้ำค่าทั้งในประเทศต่างประเทศ มากกว่า 1,000 เล่ม
- SACICT Archive : ครั้งแรกในประเทศไทยกับการพัฒนารูปการศึกษาค้นคว้าข้อมูล งานศิลปหัตถกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวบรวมฐานข้อมูลของงานหัตถศิลป์และงานนวัตศิลป์ ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรม ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ ตลอดจนสื่อหนังสือและสื่อวีดิทัศน์ที่ SACICT ได้จัดทำเพื่อบริการ องค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมแก่สังคม ให้ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากทุกมุมโลก ปัจจุบัน SACICT ให้บริการข้อมูลไม่น้อยกว่า 600 ชิ้น โดยให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ใน 5 หมวดหมู่ด้วยกัน คือ ครูและทายาทฯ หัตถศิลป์ไทย นวัตศิลป์ไทย ชุมชนหัตถกรรม/พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และสื่อสิ่งพิมพ์/วีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้องค์ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล ในกระบวนการ และในชิ้นงานศิลปหัตถกรรม เป็นจุดเริ่มต้นของพลังสร้างสรรค์ให้งานศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการศึกษา การสร้างคุณค่าแก่ผลงานหัตถศิลป์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ งานออกแบบ งานด้านวิชาการ รวมไปถึงการคิดค้นนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ นับเป็นเป็นการนำองค์ความรู้เข้าไปเสริมความแข็งแกร่งแก่งานศิลปหัตถกรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
นางอัมพวันฯ กล่าวต่อว่า SACICT Archive เป็นการวางระบบและฐานข้อมูลตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายมิติ ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน สามารถนำ Data Analytic ไปต่อยอดในความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- นักเรียนนักศึกษาเห็นคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย เกิดการสืบสานงานด้านหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ และนำมาต่อยอดผสมผสานเกิดเป็นงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ
- ผู้ผลิตทั้งชาวบ้านและชุมชน สามารถนำข้อมูลองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
- ผู้บริโภคและประชาชน เข้าถึงช่องทางงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน และยังได้ร่วมสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทย เกิดการกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
- หน่วยงานภาครัฐ เกิดการบูรณาการข้อมูล Big Data ร่วมกันเพื่อการพัฒนาประเทศแบบคู่ขนาน ให้การสนับสนุนภาคประชาชนได้อย่างตรงจุด ให้ความช่วยเหลือได้อย่างสอดคล้องกับวิถีแห่งชุมชนนั้นๆ
- นักลงทุนและผู้ประกอบการ มองหาโอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน สร้างตลาดงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายงานศิลปหัตถกรรม (Craft Social Network) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจหัตถศิลป์ของอาเซียนในอนาคต
ผู้สนใจสามารถใช้งานระบบ SACICT Archive ที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกมุมโลก ผ่านเว็บไซต์ SACICT.or.th โดยจะปรากฎไอคอน SACICT Archive ให้คลิกเข้าสู่ระบบ หรือเข้าสืบคืน ได้โดยตรงทาง archive.sacict.or.th และสามารถเข้ามาสร้างประสบการณ์ความประทับใจในงานหัตถศิลป์จากองค์ความรู้ของ SACICT Arts & Crafts Knowledge Centre ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เสลา 8.00 – 17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1289