Connect with us

ข่าว

ส่องกระแสสิ่งพิมพ์-ทีวี-ออนไลน์ ปี 64 เป็นอย่างไร ? ภูมิทัศน์สื่อ เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

Published

on

ภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 64

จับกระแสสื่อไทยในแง่มุมต่าง ๆ จากรายงาน “ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565” หรือ “Thailand Media Landscape 2021-2022” จัดทำและเผยแพร่โดยบริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านมีเดียอินเทลลิเจนซ์และสำนักข่าวชั้นนำของไทย ซึ่งรวบรวมและนำเสนอแนวโน้ม ความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ ของสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ และสื่อดั้งเดิม รวมทั้งมุมมองที่มีต่อการทำงานของสื่อ เทคโนโลยี และเมกะเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบต่อสื่อจากนักวิชาการ นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน

จากรายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปีล่าสุด พบว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อที่ถูกนำมาใช้งาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและพูดคุยจากทั้งสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากโซเชียลมีเดียสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหาข้อมูล

ขณะที่โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มได้พัฒนาและเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัว Twitter Space เพื่อนำเสนอพื้นที่อิสระในการพูดคุยในหัวข้อเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือยูทูบ (YouTube) ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Shorts ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบคอนเทนต์สร้างสรรค์ ไอเดียสดใหม่ และสั้นกระชับ ขณะที่ติ๊กต็อก (TikTok) ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย

ในปี 2564 ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในประเทศ สื่อไทยต่างก็ปรับตัวในการทำงานและรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี อาจด้วยเพราะมีประสบการณ์จากปีก่อนที่ทำให้หลายสื่อต่างก็เตรียมการไว้บ้างแล้วกับการทำงานภายใต้วิถีใหม่ที่ยังคงต้องเว้นระยะห่าง ดังนั้น ในปีนี้เราจึงเห็นพัฒนาการของสื่อไทยที่เริ่มมีการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และเข้าออฟฟิศเท่าที่จำเป็น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานมากขึ้น อย่างโปรแกรม Video Conference ที่สามารถจัดรายการไลฟ์ หรือ สัมภาษณ์ทางไกลได้

Advertisement
  • สื่อทีวี ภาพรวมยังทรงๆ ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา แต่นับว่าเป็นสื่อที่ยังอยู่ในความสนใจ เพราะถ้าดูจากเม็ดเงินที่ใช้จ่ายโฆษณาในสื่อแต่ละประเภทจะเห็นได้ว่า สื่อทีวียังมีมูลค่าการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยในไทยยังมีการใช้จ่ายเงินโฆษณากับสื่อทีวีมากที่สุด
  • สื่ออินเทอร์เน็ต หรือ สื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่มีมูลค่าการใช้จ่ายโฆษณาเป็นอันดับสองรองจากสื่อทีวี ปีนี้ยังคงเติบโตสูงแม้เม็ดเงินโฆษณาจะยังกลับมาไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโควิด-19 แต่แนวโน้มสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนับวันจะมีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นต่อสังคมไทย
  • สื่อวิทยุ และ สื่อสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการใช้จ่ายเงินโฆษณาลดลง โดยเป็นการลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น อาจจะบอกได้ว่า ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ (Print) และ สื่อวิทยุ ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

ส่วนสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เว็บไซต์ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสื่อหลักที่ทั้งสื่อมวลชน สำนักข่าว และแบรนด์ต่าง ๆ ใช้งาน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำการตลาดดิจิทัลของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งระดับ KOL (Key Opinion Leader) หรือ KOC (Key Opinion Customer) ที่มีผู้บริโภคติดตามในวงกว้างสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ รายงาน “ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565” ยังได้นำเสนอมุมมองและการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้ม สถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของสื่อและพีอาร์จากนักวิชาการ ผู้บริหารพีอาร์เอเจนซี่ และสื่อมวลชนที่จะมาสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานและอนาคตของสื่อต่าง ๆ หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเมกะเทรนด์อย่าง Metaverse เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

Continue Reading
Advertisement