Connect with us

การศึกษา

“ม.มหิดล” จับมือ “ราชบัณฑิตยฯ” เตรียมจัดประชุมยกระดับการรักษาสู่ระดับพันธุวิศวกรรมตั้งเป้ารักษาโรคยาก

Published

on

มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0)   เวทีของนักวิชาการจากทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ  ความก้าวหน้าและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยการรักษาผ่านการอิงตามพันธุกรรมของผู้ป่วย หรือการใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมหรือชีวโมเลกุลในการรักษาโรค เพื่อนำร่องรักษาโรคยาก อาทิ โรคมะเร็งบางชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา การลดขั้นตอนความซ้ำซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวใช้ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม นี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร  

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร  คชการ  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมีความเข้มแข็งและความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  ได้รับมอบหมายจากราชบัณฑิตยสภาให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมวิชาการ“เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0) ซึ่งจะเป็นเวทีของนักวิชาการจากทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ  ความก้าวหน้าและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง   ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพประชาชน โดยใช้วิชาการที่มีฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

สำหรับการประชุม “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” มีหัวข้อและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ   อาทิ 1. Precision Medicine: Current Situation in Thailand โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร มหาวิทยาลัยมหิดล 2. Artificial Intelligence, the Enabler of Precision Medicine โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 3. ความสำคัญของการแพทย์แม่นยำต่อสาธารณสุข โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 4. Realizing the Potential of Precision Medicine: Opportunities, Needs, Challenges and Solution Strategies โดย ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การรักษาโรคธาลัสซีเมียหายขาดโดยใช้หลักการ Precision Medicine   การรักษาอาการแพ้ยา  การปรับปริมาณยาก่อนการให้ยา โดยวินิจฉัยจากระดับยีนเฉพาะรายบุคคล เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการประชุมดังกล่าวยังมีภาคการศึกษาเข้าร่วมอีกจำนวนมาก อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์  เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา การลดขั้นตอนความซ้ำซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวใช้ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม นี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล  อิสรไกรศีล  นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า     ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การแพทย์พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและก้าวหน้าถึงระดับยีน หรือโมเลกุล เวชกรรมตรงเหตุ หรือ Precision Medicine เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรค ด้วยยา การบริหารยาโดยอิงตามพันธุกรรมของผู้ป่วย หรือการใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมหรือชีวโมเลกุลในการรักษาโรคที่ยาก เช่น โรคมะเร็งบางชนิด  จึงได้จัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ  สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.นสพ.ณรงค์ศักดิ์  ชัยบุตร  ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสภา กล่าวว่า “เวชกรรมตรงเหตุ หรือ Precision Medicine” เป็นศาสตร์ใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรคยาก ๆ หลายโรคอย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งบางชนิด โรคพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งมีผู้เริ่มนำมาใช้รักษาโรคในประเทศไทยบ้างแล้ว ในต่างประเทศมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดนำไปสู่การรักษาโรคที่มีความท้าทายมาก เช่น การติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยใช้อวัยวะของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยไม่ต้องรอผู้บริจาค ซึ่งในการประชุมนี้จะเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านนี้ของประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่แท้จริงของศาสตร์แขนงนี้ การให้ความรู้แก่ประชาชนในลักษณะคุ้มครองผู้บริโภค หรือเพิ่มความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี ที่สื่อสารเกินจริงจนอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดจนละเลยการรักษาตามขั้นตอน หรือเสียทรัพย์ ในการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่อ้าง เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยจัดสรรทุนวิจัยตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ซึ่งในการบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการที่สนับสนุนการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ ของประเทศ โดยโครงการวิจัย การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง (Precision Medicine in Cancer) เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี   พ.ศ.2559 มีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยหลักในการดำเนินการซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยในปีที่ 3

โครงการวิจัย “การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง (Precision Medicine in Cancer)” มีแนวคิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลต่อการเกิดโรค และการดำเนินโรคเรื้อรังต่างๆ ทุกชนิด รวมถึงผลการตอบสนองต่อการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการตรวจลำดับจีโนมที่รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยตัวอย่างในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางพันธุศาสตร์กับโรคเรื้อรังที่เห็นผลชัดเจนที่สุด คือในกลุ่มโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย การพัฒนาแนวทางการรักษาจากเดิม มาเป็น Precision medicine จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่เลือกการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจพันธุกรรมของผู้ป่วยรายนั้นๆ ทำให้เข้าใจกลไกที่ซับซ้อนของโรค ซึ่งจากผลงานใน 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าฐานข้อมูลของยีนหรือลักษณะความผิดปกติระดับโมเลกุลของมะเร็งของคนไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านมชนิด triple negative มะเร็งศีรษะและลำคอ และมะเร็งสมอง อาจมีความแตกต่างจากผู้ป่วยต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้สามารถวินิจฉัยและพยากรณ์โรคได้ถูกต้องมากขึ้นและสามารถเปิดให้บริการกับผู้ป่วยมะเร็งทางคลินิกได้จริง ซึ่งหากโครงการวิจัย “การแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง (Precision Medicine in Cancer)” ดำเนินการสำเร็จ จะนำไปสู่วิธีการรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพทั้งพัฒนาวิธีการตรวจและเลือกการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทยต่อไป                

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้จัดงานแถลงข่าวการเตรียมจัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0)  โดยมี  ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล  อิสรไกรศีลนายกราชบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์ ดร.นสพ.ณรงค์ศักดิ์  ชัยบุตร  ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสภา  ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร  คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ  มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมเทพรัตนทันตกิจสโมสร คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล (ถนนโยธี)  กรุงเทพฯ

Continue Reading
Advertisement