Connect with us

การเมือง

เปิดใจ “​อดุลย์ เขียวบริบูลย์” ในวัย 70 กว่า ผู้ต่อต้านการรัฐประหาร มอง “ยิ่งผู้อาวุโสยิ่งต้องระวังว่าควรทำตัวอย่างไร”

Published

on

​อดุลย์ เขียวบริบูลย์

​“ประสบการณ์บางอย่าง ต้องมีการถ่ายทอดกัน ยิ่งตอนนี้เราเป็นผู้อาวุโสแล้ว ต้องระวังว่าควรทำตัวอย่างไร ต้องมีหลักที่มั่นคง อะไรที่สมควรทำเราก็ทำ อะไรที่ไม่สมควรไม่เหมาะสมเราก็อย่าทำ ต้องปรับใช้กับชีวิตจริงประจำวันของเราได้ด้วย ผมจะไม่ใช้คำว่าถูกหรือผิด เพราะคนเราไม่ใช่พระเจ้า”

​อดุลย์ เขียวบริบูลย์ แกนนำ กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย และประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่คัดค้านและต่อต้านการรัฐประหาร เนื่องจากต้องสูญเสียลูกชาย จากเหตุการณ์ “ชุมนุมพฤษภาปี 2535” ​เปิดบ้านให้สัมภาษณ์กับ “บริคอินโฟ” ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและพูดคุยอย่างเป็นกันเองอย่างผ่อนคลาย ท่ามกลางสายลมโชยอ่อนในบ่ายวันหนึ่งว่า…

“ชีวิตของผมมีความสุขดีไม่เหงา ทำเพื่อสาธารณะตามที่ทำอยู่ ขณะเดียวกันชีวิตที่เคยกระโดดโลดเต้นก็ต้องปักหลัก เพราะดูแลภรรยาที่เราตอนหนุ่มๆ เคยละเลยกับเขามากมาย ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้มากขึ้น ผมไม่ได้เคร่งเครียดอย่างที่เห็น แต่ที่เห็นเครียดเป็นเพราะว่าแนวทางขององค์กร และคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ให้คำแนะนำเขา หรือต้องถูกพวกเขาปรับให้เดินไปตามที่พวกเขาต้องการ พูดง่ายๆ คือ เป็นทั้งผู้เล่นและเป็นผู้แสดง ตามที่องค์กรเหล่านั้นต้องการ นี่คือภาพที่เห็นต่อหน้า”

​​ความจริงแล้วส่วนตัวผมเป็นคนไม่เครียด สนุกสนานมาก แม้จะมีความเครียดสะสมหลายวัน พอมีโอกาสเจอเพื่อนฝูงได้ร้องเพลง ก็ถือว่าได้ระบายหมดไม่เคยเก็บอะไรไว้ ที่ผ่านมาตั้งแต่อายุ 50 กว่าผมก็จะเข้าสังคม ชักชวนพรรคพวกหรือพรรคพวกชวน ไลฟ์สไตล์ของผมคือใช้ชีวิตแบบสบายๆ นั่งคุยกันกินไวน์สนุกสนาน ที่ผมชอบมากคือการร้องเพลง ต่อมาปี 2562 ผมเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือ สโตรก (Stroke) ทำให้เป็นอัมพาต พอฟื้นตัวขึ้นมาคุณหมอบอกให้แก้ไข ด้วยการร้องเพลงบ่อยๆ เพื่อที่ผมจะได้พูดชัด และแก้ไขปัญหารูปปากที่เบี้ยว จะได้ออกเสียงชัดเจน ระหว่างร้องเพลงก็ต้องยืน ทำให้มีกำลังในการยืนและเดิน

​ผมก็พยายามทำแต่ก็ไม่ได้ดี เพราะรัฐบาลประยุทธ์สั่งให้ล็อคดาวน์ประเทศถึง 3 ครั้ง ทำให้การทำกิจกรรมร้องเพลงขาดๆหายๆ ทุกวันนี้อาการดีขึ้นเยอะแล้ว ผมก็ยังชวนพรรคพวกไปกินไวน์ ร้องเพลงกันสนุกสนาน 3-4 คน พอได้เวลาก็กลับบ้านนอน การร้องเพลงทำให้ปอดแข็งแรงขึ้น ส่วนการเล่น LINE นั้นถูกบังคับให้ต้องดู เพราะงานพรรคพวกที่เกี่ยวข้องกับงาน LINE เข้ามาเป็น 100 ก็ต้องตอบ ก็เป็นการฝึกสมองอย่างหนึ่ง แต่สมองผมค่อนข้างความจำดี แม้ว่าจะเป็นสโตรกแต่ความจำก็ไม่ได้ถูกทำลาย ยังใช้การได้ดี ทุกวันนี้ทุกเรื่องอยู่ในหัวโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์

Advertisement

คุณลุงอดุลย์ ย้อนให้ฟังถึงชีวิตครอบครัวในวัยเด็กว่า แม้จะเป็นลูกหลานคนจีนเตี่ยทำธุรกิจ แต่ก็พอเลี้ยงลูกอย่างสบายชีวิตไม่ลำบาก เรียนจบมัธยมแปดจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา แต่ไม่ยอมเรียนต่อ แม้จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่เลือกออกมาทำงาน มีพี่น้องหลายคนแต่ละคนก็มีธุรกิจของตัวเอง ส่วนใหญ่พี่น้องไม่ได้รับจ้างเพราะว่าแม่เป็นนักธุรกิจ แม้จะค้าขายไม่ใหญ่โตแต่เป็นธุรกิจของครอบครัว ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์​

​ส่วนหลักคิดในการดำเนินชีวิต สมัยผมก็มักจะเป็นพวกเศรษฐีคนจีน ที่มาจากเมืองจีนและประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ชีวิตร่ำรวยเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่พออายุมากขึ้นเป็นพ่อคน ก็จะเห็นว่าเราไม่มีเวลาคิดอย่างนั้น คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรเราถึงจะเอาตัวของเราให้รอด และรักษาดูแลครอบครัวของเราให้รอดด้วย ผมสอนลูกว่าชีวิตต้องมีทั้งหลักการและเหตุผล แต่ต้องใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ ต้องปรับรูปแบบให้ใช้กันได้

​“ประสบการณ์บางอย่าง ต้องมีการถ่ายทอดกัน ยิ่งตอนนี้เราเป็นผู้อาวุโสแล้ว ต้องระวังว่าควรทำตัวอย่างไร ต้องมีหลักที่มั่นคงอะไรที่สมควรทำเราก็ทำ อะไรที่ไม่สมควรไม่เหมาะสมเราก็อย่าทำ ต้องปรับใช้กับชีวิตจริงประจำวันของเราได้ด้วย ผมจะไม่ใช้คำว่าถูกหรือผิด เพราะคนเราไม่ใช่พระเจ้า ไม่สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งนั้นทำถูกหรือผิด แล้วก็มองด้วยความเข้าใจว่า สิ่งนั้นเหมาะสม สมควรจะต้องทำหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเหมาะสมก็ทำ แต่ผลออกมาตรงข้ามเราก็พยายามเลี่ยง หลักการแค่นี้ง่ายๆ ตอนนี้ผมก็เริ่มเข้าสู่ยุคคนแก่อย่างแท้จริง เห็นอะไรแม้จะไม่ถูกใจไม่พอใจ ก็พยายามไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ แม้ท่าทางจะดูเครียดแต่ก็ไม่มีอารมณ์ไม่พอใจ ไม่เอาแบบนั้นแล้วเพราะอายุมากขึ้นแล้ว (พูดพร้อมยิ้ม)”

​อยากให้แง่คิดกับคนรุ่นใหม่ ที่กำลังโตขึ้นในขณะนี้ว่า คนรุ่นใหม่ต้องรู้ตัวเองว่า สักวันนึงคุณก็จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ก็จะทำให้ตัวเองรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ความจริงแล้วคนสมัยใหม่เก่งกว่าคนสมัยเก่า เริ่มคิดเป็นว่าต้องทำให้ร่างกายดี หาพอประมาณทำพอประมาณ ได้เรียนรู้บทเรียนอะไรต่างๆมากขึ้นประสบการณ์มากขึ้น พัฒนาตัวเองมากขึ้นและเขาก็จะเป็นต้นแบบของคนรุ่นต่อไป แต่ก็ขอให้คิดถึงสังคมบ้าง อย่าทำอะไรเพื่อตัวเองอย่างเดียว เมื่อได้สิ่งที่เราต้องการ ครบถ้วนพอสมควรแล้ว ก็ควรเจอจานคนอื่นบ้าง อย่าคิดเอาแต่ให้ตัวเองมีชื่อ เสียงกอบโกย

Advertisement
ภรรยาของ ​อดุลย์ เขียวบริบูลย์

​ทำให้ชีวิตให้มีความสมดุล การตะกายดิ้นรนหาเงินหรือวัตถุ แต่สิ่งที่ได้มายามแก่ตัวลง คือโรคประจำตัวต้องหาหมอ ปรากฏว่าเอาเงินที่ได้ไปรักษาตัวหมด เพื่อให้มีชีวิตรอดเพื่ออะไร นอกจากนี้ต้องแบ่งปันบ้างด้วยการทำบุญทำทาน ทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเรามีโอกาสสิ่งที่เราให้ไปไม่มาก แต่มันอาจจะมีความหมายสำหรับคนหลายคน เมื่ออายุมากขึ้นก็จะรู้ว่าเงินทองกับสิ่งนอกกาย มันไม่ได้ทำให้เขามีความสุข ถ้าเขาไม่เข้าใจชีวิต อย่างผมไม่ขวนขวายตะกายหาผมก็มีความสุข ไม่ต้องไปแก่งแย่งสิ่งที่มีพอจะแบ่งปัน ให้กับคนที่ยากไร้หรือลำบากได้ก็ช่วย แล้วก็เกิดความสุข

​ชีวิตมาเจอวิบากกรรมในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เสียลูกชายที่รักมากไป ส่วนลูกสาวต้องออกจากงานไปรับจ้าง แต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดาและมีครอบครัวที่นั่น สามีเป็นชาวแคนาดา ส่วนลูกชายอีกคนต้องออกจากบริษัทใหญ่มาค้าขายด้วยตัวเอง เพราะไม่มีทางเลือก แต่ตอนนี้ชีวิตก็เป็นไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นชีวิตส่วนตัวตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งบัดนี้ก็โชคดี แม้ว่าจะบางครั้งจะลุ่มๆดอนๆแต่มันก็ผ่านไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดโควิด มีผลกระทบบ้างแต่ก็ไม่มากยังอยู่ได้

​อดุลย์ เขียวบริบูลย์ และ หลาน ๆ

​“อยากจะเห็นสังคมดีกว่านี้ เหมือนสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก มีความเอื้ออารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจ มีความเมตตากรุณาต่อคนรอบข้าง ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้า แต่ทำให้ความรู้สึกนี้หายไปมันเปลี่ยนทุกอย่าง คนไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ทุกอย่างหายไปหมดจากประเพณีวัฒนธรรม ทำให้บางครั้งรู้สึกเศร้าสะท้อนใจว่า เมืองไทย , ประเทศไทย , สังคมไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของพวกเรามันหายไป”คุณลุงอดุลย์ กล่าวทิ้งท้าย

Continue Reading
Advertisement