บทความ
“โรคเจ้าหญิง” เมื่อคนคิดว่าโลกทั้งใบหมุนรอบตัวเอง

ช่วงก่อนหน้านี้ในวงการคอสเพลย์เพิ่งมีดราม่านัว ๆ ขึ้นมา มันเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ที่นักคอสเพลย์ซึ่งเป็นโรค “แพนิค (Panic)” แสดงอาการออกมาอย่างกะทันหันในงานอีเวนต์จนเกิดเป็นเหตุวุ่นวาย มีชาวโลกออนไลน์หลายคนเชื่อและบอกต่อกันว่าเป็นเพราะ “ป้าคนใหญ่คนโต” ไปคุกคามและทำร้ายร่างกายนักคอสเพลย์รายดังกล่าว แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่อง “โอละพ่อ” เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่แค่ทำตามหน้าที่เท่านั้น และส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าไม่ควรต่อว่าอะไรผู้ป่วยไปมากกว่านี้ เพราะมันก็เป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ถ้าอาการป่วยใด ๆ จะกำเริบ
แต่ก็ยังคงมีชาวเน็ตบางกลุ่มยังคงเข้ามาโหมกระแสของดราม่า ต่อว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสถานที่จัดงานต่อ จนมีชาวเน็ตอีกฝั่งที่ติดตามเหตุการณ์นี้มาตั้งแต่เริ่มมีประเด็นใหม่ ๆ ได้ออกมากล่าวถึงคนที่พยายามทำให้ตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมในดราม่านี้ว่า เป็นผู้ป่วย “โรคเจ้าหญิง” จากการที่พยายามดันให้ตัวเองเข้ามามีซีนในเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะการออกตัวว่าเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือคนแรก ๆ หรือออกหน้าปกป้องนักคอสเพลย์รายดังกล่าว ด้วยการกล่าวหา “ป้า” กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของสถานที่จัดงาน ว่าเป็นคนทำร้ายผู้ป่วยรายนี้
ลามไปจนถึงการกดดันและกล่าวหานักข่าวอาชีพรายหนึ่ง ว่านำเสนอข่าวเท็จและขาดจรรยาบรรณ เพียงเพราะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วเนื้อหาไม่ได้เป็นอย่างที่คนกลุ่มนี้อยากให้เป็น แถมมีบางคนพยายามติดสินบนนักข่าวรายดังกล่าวด้วยจำนวนเงิน 5,000 บาท เพื่อให้ลบข่าวที่ว่านี้ออกไปจากเพจ
ซึ่ง “โรคเจ้าหญิง” ที่ว่า มันอาจจะฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูใครหลายคน (ผมก็ด้วย) แต่ถ้าลองอธิบายถึงลักษระอาการนี้ ก็น่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะผู้ที่มีอาการแบบนี้มันสามารถเจอกันได้ทุกวงการกันเลยทีเดียว! (ถ้าคุณซวยพอ) ครั้งนี้ The Trivial Space จะขอพามาเล่าถึงเรื่องราวของ “โรคเจ้าหญิง” อาการที่คน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเป็นศูนย์กลางความสนใจและมีซีนด้วยเสมอ
รู้จักกับ “โรคเจ้าหญิง”

“โรคเจ้าหญิง” (Princess Syndrome / Princess Complex) หรือ “โรคเจ้าชาย” (Prince Syndrome ถ้าเป็นผู้ชาย) ในทางจิตวิทยา เป็นอาการทางจิตรูปแบบหนึ่ง ที่ตัวผู้ป่วยจะมีบุคลิกชอบเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล, หลงตัวเอง,เห็นแก่ตัว, ไม่แคร์คนรอบข้าง, ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ, ชื่นชอบการเป็นจุดสนใจในทุก ๆ เรื่อง, ชอบโกหก และไม่ว่าใครจะยกเหตุผลใด ๆ มา ก็จะถูกปฏิเสธเสมอ ถ้ามันไม่ตรงกับความสิ่งที่ตัวเองต้องการ บางกรณีก็จะมีกลุ่มที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นพระเอก-นางเอก หรือฮีโร่ที่มีส่วนสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง… อาการลักษณะนี้มักพบในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิงเยอะเป็นพิเศษ และขอดักคอไว้ก่อนว่าผู้ชายก็เป็นได้เหมือนกัน
ต้นสายปลายเหตุของอาการเหล่านี้ เริ่มแรกนั้นเกิดขึ้นเพราะหล่อหลอมจากครอบครัว และสภาพเศรษฐกิจของยุคสมัยใหม่
จากบทความเรื่อง “Princess Syndrome: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมจีน” ของ “ดร. Roshan Khaniejo” ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์ The United Service Institution of India เมื่อปี 2015 ได้ระบุว่าจุดกำเนิดของอาการป่วยรูปแบบนี้ คาดว่าจะมาพร้อมกับการผงาดขึ้นมาของเสื้อทั้ง 4 ของเอเชีย เช่นจีน, มาเก๊า, ไต้หวัน และฮ่องกง ที่เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทัศนคติบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยมก็เลยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ประกอบกับนโยบาย “ลูกคนเดียว” ของจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ลูกเพียงคนเดียวนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางดวงใจของครอบครัว บ้านไหนมีอันจะกินหน่อย ก็พร้อมจะหันมาลงทุนกับบุตรหลานของตัวเอง อยากได้อะไรก็หามาปรนเปรอทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะอยู่สบาย ไม่ลำบากเหมือนพวกเขาในสมัยก่อน จนข้ามเส้นไปสู่การ “สปอยล์เด็ก” จนอาการกลุ่มนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า “โรคฮ่องเต้น้อย” นอกจากนี้ ด้วยความที่ช่องว่างทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น และความกังวลถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมที่มีแต่เดิม ก็ยังสะท้อนถึงทัศนคติของกลุ่ม “ชนชั้นนำ” ที่มีต่อกลุ่มคนในชั้นล่าง ๆ ลงไปด้วย ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างมุมมองต่อคนอื่น ๆ ที่เห็นและรู้สึกว่าด้อยกว่าตนเอง ให้กับผู้ป่วยโรคเจ้าหญิงด้วย
ที่มาภาพ : 8photo – Freepik
ในปัจจุบัน อาจจะไม่จำเป็นต้องมีเรื่องฐานะของครอบครัวอย่างเดียว เพราะหลัก ๆ จะเกิดมาจากการเลี้ยงดูซะมากกว่า เพราะพ่อแม่ยุคใหม่จะค่อนข้างเลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอมและให้ความรักความเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยหวังว่าลูกจะเติบโตมาท่ามกลางความรักของพ่อแม่ แต่ความรักที่เกินพอดี ก็อาจจะข้ามเส้นไปสู่การ “สปอยล์เด็ก” อย่างที่กล่าวไปเมื่อ 2 ย่อหน้าที่แล้ว ทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าของความรัก สนใจเพียงแค่ “ต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ”
นอกจากเรื่องของความเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้แล้ว ผู้ป่วยโรคเจ้าหญิงหรือเจ้าชายบางราย อาจจะต้องการเพียงเป็นจุดศูนย์กลางหรือมีบทบาทในเรื่องราวต่าง ๆ
หรือให้พูดง่าย ๆ ก็คือต้องการเพียงมีซีนสำคัญ หรือเป็น “พระเอก -นางเอก” ในเหตุการณ์นั้น ๆ
และพร้อมจะทำอะไรบางอย่างที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองจะได้รับคำชม โดยไม่สนว่าสิ่งที่ทำอาจจะก่อปัญหาให้ใครบ้าง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็พร้อมจะปัดความรับผิดชอบได้อย่างไม่ไยดีอะไรทั้งสิ้น
ในฝั่งตะวันตกเองก็มีข้อถกเถียงถึงอาการ “โรคเจ้าหญิง” ไว้ว่ามันเกิดมาจากสื่อและกระแสบริโภคนิยม ที่สร้างภาพความเป็นเจ้าหญิงให้กับเด็ก ๆ จากการโฆษณาสินค้า รวมไปถึงภาพที่สื่อออนไลน์และการ์ตูนแนวเจ้าหญิง ไปจุดประกายความฝันชีวิตที่เป็นเหมือนเทพนิยายของพวกเขา
มีสิทธิ์เจอได้ทุกสังคม

ด้วยความที่ภาวะ “โรคเจ้าหญิง – เจ้าชาย” นั้นมีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่เป็นเหมือนสังคมแรกเริ่มของมนุษย์ ทำให้ทุก ๆ สังคมและวงการ มีโอกาสจะได้เจอคนกลุ่มนี้ทั้งหมด แล้วแต่ความซวยส่วนบุคคล และครั้งไหนที่เกิดปัญหาโดยมีคนกลุ่มนี้เป็นต้นเหตุ หรือเพิ่งผ่าเข้ามากลางปล้อง ก็รับประกันได้เลยว่าปวดหัวไม่แพ้ดราม่าไหน ๆ เลย
เพราะคนที่มีภาวะดังกล่าวนั้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบทุกอย่างที่ทำให้เกิดเป็นปัญหานั้น ๆ และจะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปเป็นเรื่องที่ผิด หรือยอมรับเหตุผลและความคิดของคนที่เข้ามาตักเตือน นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นคนจำพวกที่รับมือได้ยากมาก ๆ
เช่นกรณีตัวอย่างที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องจากคนไทยรายหนึ่ง ที่ถูกลากเข้าไปในดราม่าระหว่าง Influencer จากประเทศข้างเคียง โดยมีชนวนเหตุจาก “คนไทยอีกราย”
** บุคคลในเรื่องนี้ จะใช้นามสมมุติทั้งหมด **
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นมาจาก “นาย X” ได้ไปรับทราบเรื่องราวดราม่าที่มี “อินฟลูฯ A” เข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นได้นำเรื่องที่ได้ยินมานี้ไปเล่าให้กับ “อินฟลูฯ A” ฟัง และเกิดเป็นความไม่พอใจ และไปเปิดศึกดราม่ากับ “อินฟลูฯ B” ที่เชื่อว่าไปพูดอะไรไม่ดีลับหลัง A ไว้
แต่อันที่จริง ต้นเหตุมันเกิดจากการที่นาย X ไปจับแพะชนแกะ เอาเรื่องดราม่าระหว่าง “อินฟลูฯ A” กับ Influencer อีกคนที่อาศัยอยู่สหรัฐฯ กับประสบการณ์การไปเที่ยว และถ่ายภาพกับ “อินฟลูฯ B” แล้วเอาทั้งสองเรื่องมาผสมปนกัน ส่วน “พี่ Y” ผู้เกี่ยวข้องอีกคนที่ไปถ่ายกับอินฟลูฯ B เอง ยืนยันว่าไม่มีใครเล่าหรือนินทาอะไรให้ฟัง แต่ตัว “นาย X” กลับปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะชนวนเหตุดราม่าครั้งนี้ โดยอ้างแค่ว่า “ก็ได้ยินมาอย่างนี้”
“พี่ Y” จึงได้พยายามไปบอกกับ “อินฟลูฯ A” ว่าการนินทาที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ทาง A ที่กำลังหัวร้อน ๆ ก็แคปเอาแชทเพียงบางส่วนไปลง ซึ่งทาง “พี่ Y” ก็ได้ปกป้องตัวเองด้วยการเอาแชทในฉบับเต็มมาเผยแพร่ ดราม่าครั้งนี้ถึงได้สงบลง… แต่ถึงอย่างนั้น “อินฟลูฯ A” ก็ยังคงไม่ยอมจบกับ “อินฟลูฯ B” จนกระทั่งเรื่องซาไปเอง
“Princess Syndrome” ในสื่อบันเทิง

เมื่อชีวิตจริงมีคนแบบนี้จริง ในสื่อบันเทิงมีหรือว่าจะรอด เพราะทั้งในมังงะและอนิเมะ รวมไปถึงการ์ตูนจากฝั่งตะวันตก ก็มีการสร้างตัวละครที่สามารถตีความได้ว่ามีภาวะ “โรคเจ้าหญิง – เจ้าชาย” ไว้ด้วย ถ้าเอาผ่าน ๆ ตากันมาบ้าง ก็จะเป็นมังงะหรืออนิเมะจำพวก “เกิดใหม่เป็นนางร้ายในเกมจีบหนุ่ม” ทั้งหลาย ที่ตัวเอกของมังงะจะมาเกิดเป็นนางร้ายในเกม และบางเรื่อง นางร้ายของมังงะก็ไม่ใช่ใคร มันก็ตัวนางเอกของเกมนี่แหละ
ยกตัวอย่างมังงะเรื่อง “Nokori Ichinichi de Hametsu Flag Zenbu Heshiorimasu: Zamaa RTA Kiroku 24Hr.” (ชื่อยาวสัส!) หรือชื่อไทยที่กลุ่มนักแปลสมัครเล่นตั้งให้คือ “หักธงตายในหนึ่งวัน” ที่ Lucia นางเอกของเกม (aka ตัวร้ายของเรื่อง) นั้นยึดติดกับการเป็นตัวเอกของเรื่องราว และต้องการจะให้เรื่องราวสุดโรแมนติกนี้เป็นของเธอ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามแผน เพราะ Alexlandra นางเอก (ที่เกิดใหม่เป็นนางร้าย) ได้วางแผนตลบหลังเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมเอาไว้แล้ว

ถ้าตัวอย่างนี่มันเฉพาะทางเกินไป ก็ขอยกตัวละครจากการ์ตูนดัง The Powerpuff Girls อย่าง “Princess Morbucks” เด็กบ้านรวยเอาแต่ใจ ที่เห็นสาว ๆ Powerpuff Girls แล้วอยากเป็นบ้าง ติดอยู่อย่างเดียวคือทั้งสามสาวเกิดมาจากการทดลองพร้อมพลังพิเศษ แต่ Princess Morbucks เป็นแค่คนธรรมดา ในเมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการ เธอก็ผูกใจเจ็บ และต้องการทำลาย Powerpuff Girls ด้วยอำนาจเงินของพ่อและเทคโนโลยี ทำการสร้างชุดสูทเสริมพลังขึ้นมา หลังจากนั้น “Princess Morbucks” ก็กลายมาเป็นหนึ่งใน Line Up วายร้ายอีกคนของแฟรนไชส์
ถ้าจะบอกว่า “โรคเจ้าหญิง – เจ้าชาย” มันก็แค่พวกที่โดนตามใจจนเสียคนดี ๆ นี่เอง… มันก็มีทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะอย่างที่ได้อธิบายไป อาการนี้มันเกิดขึ้นได้จากการเลี้ยงดูที่เกินพอดี อีกส่วนก็อาจจะเป็นการสร้างภาพชี้นำจากสื่อต่าง ๆ ปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อให้กับเด็ก ๆ ว่าโลกใบนี้คือเทพนิยายของพวกเขาและเธอ
สิ่งที่พอทำเพื่อดึงสติของคนกลุ่มนี้ได้ นั่นคือการทำให้ยอมรับว่านี่ไม่ใช่ละครหรือเทพนิยายของพวกเขา หยุดเพ้อฝันว่าทุกอย่างต้องได้ดังใจตัวเอง โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว เลิกเอาแต่จะชนะ และคนเราไม่มีทางทำถูกไปทุกอย่าง รู้จักการรับผิดชอบการกระทำของตัวเองซะบ้าง ที่ว่ามาเหมือนจะดูง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ถือว่ายากพอตัว… เพราะคนกลุ่มนี้คือที่สุดของความดื้อรั้นที่ต้องใช้ความอดทนในการรับมือสูงเลยทีเดียว
ติดตามบทความและ Content ต่าง ๆ เกี่ยวกับ Pop Culture ได้ที่ https://www.facebook.com/GrizzlyTrivialSpace