บทความ
ทำไม “ราคาน้ำมัน” ของเราไม่เท่ากัน ไขข้อสงสัยทำไม ปี 63 น้ำมันถูก แล้วทำไมไทยราคาแพงกว่าเพื่อนบ้าน

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างว่า ราคาน้ำมันแพงไทยแพงกว่าต่างชาติ ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านก็นำเข้าน้ำมันจากไทยไปขาย กระทั่งข้อเสนอว่าให้รัฐบาลไทยปรับลดราคาน้ำมันลง 5 บาท รัฐบาลทำได้แต่ไม่ทำ… ประโยคเหล่านี้ล้วนวนเวียนอยู่ในสังคมเรามาหลายปี แต่จริงแท้แค่ไหนวันนี้เรามาหาคำตอบกัน
ตอนนี้ใครเติมน้ำมันต่างร้องระงมว่า น้ำมันแพงมากกกก แพงจริงๆ ดีเซลทะลุไป 30 บาทแล้ว แก๊สโซฮอลล์ E20 ราคาโดดไป 31 บาท ส่วนน้ำมันพรีเมียมทั้งหลาย บรรดา 95 นี่ไม่ต้องพูดถึง บางปั๊มโดดไป 40 บาทต่อลิตรแล้ว
ทำให้หลายคนนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจว่า ช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนต้องอยูบ้านราคาน้ำมันก็ถูกแสนถูก ดูได้จากช่วง 30 เมษายน 63 น้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 14 บาทกว่า B7 อยู่ที่ 17 บาท E20 อยู่ที่ 15 บาท แต่พอคนกลับมาทำงานเท่านั้นแหละ ราคาพุ่งไม่เกรงใจค่าครองชีพและเงินเดือนในกระเป๋าเลย
ปี 2563 ราคาน้ำมันถูกสุดในรอบ 20 ปี
โดยสาเหตุสำคัญที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงขนาดนี้ เป็นเพราะสถานการณ์โควิดทั่วโลกที่ระบาดรุนแรง ทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ คนต้องอยู่บ้าน นโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home คนแทบไม่ออกขับรถออกจากบ้านกันเลย เทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ปั๊มน้ำมันบางแบรนด์เคยขายน้ำมันเดือนละ 40 ล้านลิตร ลดเหลือเพียง 6 แสนลิตร ช้ำหนักอีกกับค่าเงินบาทที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ทำให้อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม ลดลงมากถึง 12.5% กลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปีก่อน 1.5% กลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 65.4 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปีก่อน 2.9% มันจึงชัดเจนว่ายิ่งความต้องการใช้น้อยมากเท่าใด ราคาก็ยิ่งลงไปตามนั้น
แต่เมื่อตัดภาพมาปีนี้ เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น หลายประเทศยักษ์ใหญ่ประกาศเปิดประเทศ ทุกคนออกจากบ้าน กลับมาทำงาน ทำให้การเดินทางก้าวกระโดดขึ้นมาสูงมากๆ อีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนคิดไม่ถึงคือ การรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ที่ดูผิวเผินอาจไม่น่ากระทบมากนัก แต่ปัจจัยนี้แหละเป็นเหตุสำคัญให้กลุ่ม โอเปก ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ประกาศกร้าวว่ารักโลก ไม่เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว และยังลดปริมาณการผลิตให้น้อยกว่าความต้องการ ดังนั้นราคาน้ำมันโลกจึงหนีไม่พ้นที่จะพุ่งทะยานแบบที่เราเห็นกัน
แล้วประเทศได้ผลิตน้ำมันเองใช่หรือไม่ ?
หลายคนจึงบอกว่าประเทศเราก็มีแหล่งน้ำมันผลิตเองทำไมยังแพง คุมราคาเองไม่ได้หรอ ให้ราคาในประเทศถูกลง คำตอบคือ ใช่ครับ ประเทศไทยเราก็มีแหล่งผลิตน้ำมันใช้เองได้ แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ คิดเป็น 11% เท่านั้น ประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ที่เหลืออีก 89% ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ ตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย อเมริกาฯ ประมาณ 900,000-1,000,000 บาร์เรลต่อวัน
คำถามสำคัญทำไมราคาน้ำมันไทยแพงกว่าเพื่อนบ้าน
ข้อนี้ต้องเริ่มกันที่สาเหตุแท้จริงของราคาน้ำมัน มี 6 องค์ประกอบด้วยกัน อย่างแรกคือ ต้นทุนน้ำมัน 40-60% ส่วนนี้อ้างอิงตามราคาของภูมิภาค ยังไม่เพิ่มขึ้น ต่อมาคือตัวที่ทำให้ราคาโดดจากต่างประเทศ นั่นคือภาษีต่างๆ คิดเป็นต้นทุน 30% ของราคาขายเลย ทั้ง 2) ภาษีสรรพสามิต 0.9-6.5 บาทต่อลิตร 3) ภาษีเทศบาล 10% ของภาษีสรรพสามิต เอามาบำรุงท้องถิ่น 4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% นั่นแหละ ตรงจุดนี้ทำให้ราคาโดดขึ้นไปมาก
แต่ยังไม่หมด เพราะก่อนน้ำมันจะเดินทางมาถึงรถคุณ ยังต้องเจอหักจากข้อนี้ 5) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐบาลใช้เก็บไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนด้วย บวกกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ท้ายสุดเมื่อมาถึงปั๊มน้ำมัน ก็จะถูกจัดเก็บ 6) ค่าการตลาดของปั๊มนั้นๆ ที่เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการอีกต่อหนึ่ง เมื่อหกข้อนี้รวมกันก็ทำให้สัดส่วนราคาน้ำมันของไทยต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน
ลดราคาลง 5 บาท ทำได้จริงไหม
ข้อเรียกร้องของเอกชน หรือภาคขนส่งที่ออกมาขอให้รัฐบาลเห็นใจ ว่าฟื้นไข้จากโควิด แต่ยังต้องถูกกระทบจากต้นทุนภาคขนส่งที่แพงขึ้นอีก ซึ่งต้นทุนการขนส่งสินค้าของไทยกินสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนการผลิตแล้ว จึงอยากให้ลดราคาลง 5 บาท เป็นเวลา 1 ปี
คำตอบคือ สามารถทำได้! แต่…
วิธีการลดราคาน้ำมันที่ได้ผลชะงักงัน ขั้นแรกคือการ ลดภาษีสรรพสามิต หากลดจาก 5 บาทเหลือ 0.01 บาท ราคาส่วนต่างจะหายไปทันที 5 บาท แต่ขึ้นชื่อว่าภาษีเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ย่อมไม่ยอมทุบหม้อข้าวของตนเองแน่นอน และยังต้องแก้กฎหมายอีกหลายขั้นตอน ยิ่งประกาศลดไปแล้ว หากกลับมาขึ้นให้ก็เป็นเรื่องยาก จะเสียคะแนนนิยมในอนาคตซ้ำไปอีก หากพบกันคนละครึ่งทางก็อาจไม่ใช้วิธียกเลิกการจัดเก็บ แต่ยอมให้ลดอัตราภาษีลงมาเท่าใดก็ว่ากันไป แล้วไม่ต้องทำการจัดเก็บซ้ำซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก เท่านี้ราคาน้ำมันก็จะไม่สูงถึง 6 บาทกว่าอย่างที่เป็น
ต่อมาลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ประกอบกับการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นให้เท่ากับการส่งออกต่างประเทศ ถัดมาคือการปรับโครงสร้างน้ำมันแก็สโซฮอลล์ ที่ผสมเอทานอลลง เพราะตอนนี้ราคาต้นทุนแพงกว่าราคาน้ำมันไปแล้ว ซึ่งบางส่วนมองว่า การที่รัฐบาลคงสัดส่วนการผสมเอทอนอลไว้ เป็นการใช้นโนบายหาเสียง เอาเงินของประชาชนไปอุ้มภาคเกษตร ทั้งที่ต้นทุนราคาสวนทางกับตลาดโลก
เมื่อประกอบกันแล้ว หากยกเว้นการจับเก็บภาษี และไม่ผสมไบโอดีเซลเลย ประเมินว่าจะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ประมาณ 10 บาทต่อลิตร พร้อมกับสิ่งที่ต้องแลกมาคือ รายได้การจัดเก็บภาษีอาจหายไปถึง 150,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 10,000 ล้านบาท ทั้งยังต้องถูกต้านจากหลายฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์อีก จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ
รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนอย่างไร
วิธีการของรัฐบาลที่ออกมา คือ การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาจ่ายส่วนต่าง / กำหนดประเภทกลุ่มน้ำมันดีเซลให้เหลือเพียง B6 เท่านั้น พร้อมกับขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเหลือเพียง 7,000 ล้านบาท จากเกือบ 40,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
ดังนั้น กบน.อนุมัติให้กู้เงินเพื่อเติมอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อมารองรับการตรึงราคาได้ถึงเดือนเมษายน 2565 หากว่าสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และชัดเจนอยู่แล้วว่าแนวโน้มราคาน้ำมันปีหน้าจะยังสูงต่อเนื่องแน่นอน
ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ คงต้องบอกว่าสามารถเป็นไปได้ ทำได้แน่นอน เพียงแต่จะมีผลกระทบตามมาเสมอ หากลดตรงนี้ก็กระทบรายได้ภาษี บางคนก็ถามว่าแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาพัฒนาประเทศ หรือเอาเงินกู้มาลดราคาน้ำมันไปเลย บ้างก็มองว่าการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน แต่เอาไปอุ้มราคาแก๊สเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง กลับกันบางคนก็มองว่าเป็นทางออกที่ดีเพราะราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพจนคุมไม่อยู่ เรื่องนี้จึงมีหลายมิติ หลากมุมมอง ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้นโยบายว่าจะบริหารจัดการอย่างไรถึงเหมาะสม
แล้วคุณละครับ คิดว่าเราคาน้ำมันตอนนี้แพงไปไหม แล้วควรจะบริหารจัดการอย่างไร…
เรื่องโดย : กมลธร โกมารทัต